Friday, January 31, 2014

E-Tourism


    E-Tourism            
               ในปัจจุบันการท่องเที่ยวถือเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในต่างประเทศ   ประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ  แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้คงไม่มีมีใครคิดจะเดินทางท่องเที่ยว และจากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนี้เองทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะรายได้หลักของประเทศไทยนั้นมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้การท่องเที่ยวของไทยย่อมได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก  อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรก็คือผู้ประกอบการ  บริษัททัวร์และนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยวยังคงยึดติดอยู่กับการท่องเที่ยวแบบเดิมๆอยู่ นั่นคือการนั่งรอนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาและมุ่งหานักท่องเที่ยวที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่กลับไม่แสวงหานักท่องเที่ยวจากมุมโลกอื่นเลยทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการในไทยยังไม่เปิดกว้างและก้าวเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต (Internet) เท่าที่ควรหรือยังไม่คุ้นเคยกับระบบที่เรียกว่า E-Tourism
                E-Tourism คือการใช้ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีในการท่องเที่ยวเพื่อช่วยให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องง่าย  ในปัจจุบัน E-Tourism ไม่ใช่เรื่องแปลกในระดับโลกอีกต่อไปเพราะธุรกิจท่องเที่ยว บริษัททัวร์ต่างๆที่เป็นบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของโลกนั้นต่างใช้ E-Tourism ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นและทำให้การบริการด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลกโดยผ่านอินเตอร์เน็ตออนไลน์ การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตได้ปฏิวัติวิถีการท่องเที่ยวแบบโบราณ โดยเฉพาะ การสืบค้นข้อมูล ข้อหาสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมชั่น รวมถึงวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ให้ง่ายดุจพลิกฝ่ามือ และยังสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการได้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้น E-Tourism ยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่เพราะผู้ประกอบการและบริษัททัวร์ส่วนใหญ่ในไทยนั้น ยังคงขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้อินเตอร์เน็ตในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวอยู่มาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกรวม 1,000 ล้านคน และ 80% ของคนจำนวนนี้ ใช้อินเตอร์เน็ตในการหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยว อาทิ แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และบริการด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ตลอดจน การใช้บริการจองผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยระบบ E-Commerce ก็ตาม ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
                นอกจากบริษัททัวร์ของไทยไม่เปิดเข้าหาโลกอินเตอร์เน็ตเท่าที่ควรแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยประสบปัญหา คือ การที่โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว หรือบริษัททัวร์ขาดความร่วมมือที่ดีต่อกัน จากแนวคิดของ Ronold R.Coase (1937) กล่าวว่า หน่วยผลิตจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีต้นทุนธุรกรรม (Transaction Cost) ซึ่งก็คือ ต้นทุนในการติดต่อกับผู้ผลิตรายอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าหรือบริการของหน่วยผลิต ซึ่งถ้าหากมีต้นทุนทางธุรกรรมในการติดต่อสูงจะทำให้หน่วยผลิต เลือกที่จะผลิตสินค้าหรือบริการด้วยตนเองโดยไม่ติดต่อกับผู้ผลิตรายอื่นๆ จากทฤษฎีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบริษัททัวร์ในประเทศไทยที่ยังขาดความร่วมมือต่อกันนั้น ผมเห็นว่ามาจากสาเหตุใหญ่ๆ สองประการ คือ
ความเสี่ยงจากการสูญเสียข้อมูลกลุ่มลูกค้า: มาจากการที่หน่วยงานต่างๆมีการปกปิดข้อมูลลูกค้าต่อกัน อาจเนื่องด้วยการเกรงกลัวการสูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่ง เพราะการทราบข้อมูลลูกค้าของคู่แข่ง จะทำให้คู่แข่งเกิดการพัฒนาบริการให้เหมาะสมกับลูกค้าได้มากขึ้น และนำไปสู่การแย่งลูกค้าระหว่างบริษัทด้วยกัน ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าที่เข้ามาท่องเที่ยวต้องเสียเวลาในการติดต่อ โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวแยกกันต่างหาก ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร
ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของบริการของหน่วยผลิตรายอื่น: เกิดจากการที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในประเทศไทยขาดการจัดมาตรฐานที่ดี ทำให้เกิดการขาดความไว้ใจที่จะส่งลูกทัวร์ให้แก่กันและกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัททัวร์รายหนึ่งได้ทำสัญญากับสายการบินA โดยที่ไม่รู้ว่าสายการบินA เป็นสายการบินที่ราคาถูก แต่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวใช้บริการแล้วไม่พอใจกับบริการ ก็จะตำหนิไปยังบริษัททัวร์ ซึ่งทำให้บริษัททัวร์เสียชื่อเสียง ทั้งนี้จากทฤษฎีของ Coase การกระทำเช่นนี้อาจเรียกได้ว่า เป็น สัญญาที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete Contract) เนื่องจากไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการอื่นๆทำตามาตรฐานที่ต้องการได้ ซึ่งอาจเกิดจากความจำกัดในการประมวลข้อมูลของคน (Bounded Rationality) เช่น ข้อมูลความรู้ การคาดการณ์ ทำให้หน่วยผลิตไม่สามารถเขียนสัญญาที่สมบูรณ์ (Complete Contract) ได้
            นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ E-Tourism ไม่ประสบความสำเร็จกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเท่าที่ควร ก็คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่เชื่อมั่นในระบบ E-Tourism ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย จากผลสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่รู้จักเวบไซต์การท่องเที่ยวของไทย  และยังรู้สึกไม่ปลอดภัยในการตัดสินใจเลือกบริษัททัวร์ในการท่องเที่ยว  ซึ่งมีข้อมูลด้านการท่องเที่ยวหรือแพคเกจทัวร์ที่ไม่ชัดเจน  มีความกังวลว่าบริการที่โฆษณากับบริการที่ได้รับจะไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังขาดความสะดวกในการซื้อบริการ  ซึ่งพฤติกรรมของลูกค้าเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ระหว่างลูกค้ากับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวของไทย ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวในเมืองไทยถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของกิจการที่มีข้อมูลมากกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
             นอกจากนี้หากมองในแง่ของผู้ผลิตแล้ว E-Tourism ยังทำให้หน่วยผลิตมีต้นทุนทางธุรกรรมถูกลงเพราะ จะทำให้การติดต่อระหว่างหน่วยผลิตต่างๆ กับลูกค้านักท่องเที่ยว เป็นไปได้ง่ายและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่ว่าผู้ประกอบการต่างๆในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องหันมาให้ความร่วมมือกันในเรื่องข้อมูลลูกค้า รวมไปถึงการรักษาระดับมาตรฐานการบริการของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งผมคิดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเป็นหนึ่งเดียว สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ดีขึ้น และอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย
            เมื่อเห็นประโยชน์จาก E-Tourism มากมายขนาดนี้แล้วผู้ประกอบการทั้งหลายก็ควรหันมาสนใจการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้กันให้มากกว่าเดิม  รับรองว่าหากประเทศไทยเราพัฒนาให้ระบบการท่องเที่ยว E-Tourism ให้ทัดเทียมกับต่างชาติตำแหน่งผู้นำด้านการท่องเที่ยวของโลกก็คงจะไม่ไกลเกินเอื้อมแน่ๆ...                    

No comments:

Post a Comment